ชวน หลีกภัย รุ่นที่ ๖

ชวน หลีกภัย เริ่มศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนวัดควนวิเศษ จังหวัดตรัง, มัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษ และโรงเรียนตรังวิทยา ต่อมาได้ศึกษาต่อทางด้านศิลปะ ที่โรงเรียนศิลปศึกษา แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาลัยช่างศิลป ในปัจจุบัน) จนเมื่อพ.ศ. 2505-07  นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมเคยฝึกฝนงานศิลปะมาตั้งแต่เรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงมีพื้นฐานความรักและชอบศิลปะอยู่  อย่างน้อยก็ชอบดูผลงานศิลปะต่างๆ อาชีพและงานที่ทำมาโดยตลอดของผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ จึงไม่ได้ทำงานด้านนี้เลย ที่ยังขีดๆ เขียนๆ อยู่บ้างก็โดยความชอบและมีอารมณ์อยากจะเขียนและมีความสุขเมื่อได้เขียนภาพ ดังนั้น  แม้เมื่อเป็นทนายความก็ชอบสเก็ตช์หน้าพยานหรือคู่คดีเป็นความสนุกมือและช่วยให้จดจำเหตุการณ์และบุคคลได้มากขึ้น โดยที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะสร้างผลงานหรือสะสมผลงาน แต่เขียนเพื่อความพอใจ  จึงไม่ได้รวบรวมงานไว้เลย  ส่วนใหญ่จะติดอยู่ในกระดาษที่หยิบฉวยได้ เช่น ในสำนวนคดี  ในเอกสาร วาระการประชุมในเวลามีการประชุมหรือมีการสัมมนา

โดยสภาพอาชีพและงานที่ทำ  ยากที่จะหาเวลาเป็นตัวของตัวเองได้มากพอที่จะนั่งทำงานศิลปะ  จึงใช้เวลาสั้นๆ ทีมีอยู่เขียน  แม้ในเวลาปฏิบัติภารกิจก็ทำได้บ้าง เช่น ไปงานบุญ ขณะที่พระสงฆ์สวดอยู่  ถ้ามีกระดาษ  มีปากกา  ก็จะเสก็ตช์ภาพผู้คนในงานบ้าง  รวมไปถึงพระคุณเจ้าที่กำลังสวดอยู่  หรือเวลาเข้าไปเยี่ยมชาวบ้านในหมู่บ้าน  ขอเขียนรูปผู้คนในหมู่บ้าน ด้วยเวลาที่จำกัดดังกล่าว  เมื่ออยากจะเขียนก็จะเขียนได้  แม้อยู่ในลิฟท์  ช่วงเวลาที่ลิฟท์ขึ้นลง  ก็สามารถสเก็ตช์บุคลิก  ท่าทางคนในลิฟท์ได้  โดยเฉพาะคนในลิฟท์  เวลาที่ใช้สเก็ตช์ภาพจึงใช้เวลาเพียงครึ่งนาทีหรือหนึ่งนาทีเท่านั้น รูปที่เขียนจึงเสร็จสมบูรณ์เท่าที่มีเวลาอยู่ตอนเขียนเท่านั้น  ภาพสเก็ตช์ส่วนใหญ่จึงไม่ได้ลงรายละเอียด  ไม่ได้นำมาตกแต่งเพิ่มเติมใหม่  ยกเว้นบางรูปมีเวลาให้เขียนมากก็สามารถลงรายละเอียดได้มาก

ที่ใช้ปากกาก็เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว  ไม่มีเวลามาร่างหรือเตรียมการใด ๆ เมื่ออยากเขียนก็ลงมือเลย  ไม่ต้องมาขูดลบหรือแก้ไขใดๆ อีก ความจริงรักภาพสีน้ำมันแต่ไม่มีเวลาฝึกฝน  ภาพสเก็ตช์ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าคน  ที่เขียนหน้าคนเพราะหน้าคนแต่ละคนมีความน่าสนใจแตกต่างกัน  ยิ่งคนแต่ละภาคจะมีบุคลิกลักษณะที่น่าสนใจแตกต่างกันไป จะขี้ริ้วขี้เหร่อย่างไร  แต่ในสายตาของผมก็ว่าน่าสนใจ  น่าเขียน น่าสเก็ตช์เพราะเห็นว่าเป็นความงามในอีกลักษณะหนึ่ง  ทิวทัศน์ก็ชอบเขียน  โดยเฉพาะชอบเขียนต้นไม้ภาคอีสานที่มีลักษณะรูปทรงแปลกๆ เห็นคุณค่าของงานศิลปะ  จึงได้จัดให้มีการยกย่องศิลปินแห่งชาติขึ้น  เมื่อสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  และต้องการให้มีหอศิลป์หรือที่รวบรวมงานศิลปะไม่ว่าแบบไทยหรือสากล  ที่กระจัดกระจายอยู่ในสถาบันการศึกษา…”

ข้อมูลจาก : สูจิบัตรนิทรรศการศิลปกรรมของ  นายชวน  หลีกภัย  เนื่องในวาระพิเศษทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาจิตรกรรม   โดยคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์  มหาวิทยาลัยศิลปากร